วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด ๑๓ กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปีพาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง ๑๓ กัณฑ์ด้วย
วันรุ่งขึ้น ทำบุญเลี้ยงพระอีกแล้วมีเทศน์ จตุราริยสัจจกถาในระหว่างเพลจบแล้วเลี้ยงพระเพลเป็นอันเสร็จพิธี
ระเบียบพิธีในการเทศน์มหาชาติ ที่นิยมกันเป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้
๑) ตกแต่งบริเวณพิธีให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่ในบริเวณป่า ตามท้องเรื่องเวสสันดรชาดก โดยนำเอา ต้นกล้วย ต้นอ้อย และกิ่งไม้มาผูกตามเสา และบริเวณรอบ ๆ ธรรมาสน์ ประดับธงทิว และ ราวัติ ฉัตร ตามสมควร
๒) ตั้งขันสาครใหญ่ หรือจะใช้อ่างใหญ่ที่สมควรก็ได้ใส่น้ำสะอาดเต็ม สำหรับปักเทียนบูชาประจำกัณฑ์ ในระหว่างที่พระเทศน์ น้ำในภาชนะที่ตั้งนี้เสร็จพิธีแล้ว ถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่สำคัญ ภาชนะใส่น้ำนี้ตั้งหน้าธรรมาสน์ กลางบริเวณพิธี
๓) เตรียมเทียนเล็ก ๆ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม แล้วนับแยกจำนวนเป็นมัด มัดหนึ่งมีจำนวนเท่าคาถาของกัณฑ์หนึ่ง แล้วทำเครื่องหมายไว้ให้ทราบ ว่ามัดไหนสำหรับบูชาคาถากัณฑ์ใด เมื่อถึงคราวเทศน์กัณฑ์นั้นก็จะเอาเทียนมัดนั้นออกจุดบูชาติดรอบ ๆ ภาชนะน้ำ ต่อกันไปจนจบกัณฑ์ให้หมดมัดพอดี ครบ ๑๓ กัณฑ์ถ้วน จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เท่าจำนวนคาถา บางแห่งนิยมทำธงเล็ก ๆ ๑,๐๐๐ คัน แบ่งจำนวนเท่าคาถาประจำกัณฑ์เช่นอย่างเทียน แล้วปักธงบูชาระหว่างกัณฑ์บนหยวกกล้วย แต่การใช้ธงไม่เป็นที่นิยม เช่น เทียน การจุดเทียนหรือปักธงบูชากัณฑ์ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพผู้รับกัณฑ์นั้น ๆ
การเทศน์เวสสันดร มีวิธีเทศน์เป็นทำนองโดยเฉพาะ จะต้องได้รับการฝึกอบรมศึกษาต่อท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนี้เป็นพิเศษ ส่วนการเทศน์จตุราริยสัจจกถา มีระเบียบพิธีอย่างเทศน์ในงานดังกล่าวแล้วข้างต้น
ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ
งานเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขี้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า "งานบุญผะเหวด" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน ๑๐
การเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังตำนานต่อไปนี้
ตำนานเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์
การเทศน์มหาชาติ คือการมหากุศลที่เตือนบุคคลให้น้อมรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์สูงอันไพศาลของมวลมนุษยชาติเป็นสำคัญเป็นเทศกาลที่คงความหมายอย่างแท้จริง
การเทศน์ทุกกัณฑ์จะมีผู้เป็นเจ้าภาพจัดกัณฑ์เทศน์ถวาย เมื่อพระที่ตนรับกัณฑ์เทศน์ขึ้นเทศน์เจ้าภาพจะจุดเทียนบูชาคาถาหว่านข้าวตอกข้าวสาร การเทศน์ในสมัยก่อนพระเจ้าของกัณฑ์จะอ่านจากอักษรธรรม(อักษรลาว) ซึ่งจารลงบนใบลานเป็นแผ่นยาว คำว่า "จาร" มาจากภาษาเขมรแปลว่า การเขียนด้วยเหล็กแหลมบนใบลาน แต่ปัจจุบันจะนิยมพิมพ์ลงบนใบลานเป็นตัวหนังสือไทยปัจจุบัน เป็นเรื่องราวในแต่ละกัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกสำหรับพระรุ่นใหม่ เมื่อจบกัณฑ์จะตีฆ้องเป็นสัญญาณ การเป็นเจ้าของกัณฑ์ในหมู่บ้านในชนบทอาจแบ่งเจ้าภาพเป็นคุ้ม เรื่องราวและประวัติความเป็นมาแต่ละกัณฑ์มีดังนี้
1.กัณฑ์ทศพร ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าหวนกลับบ้านเกิดเมืองนอนคือเมืองกบิลพัสดุ์ อยู่วัดต้นไทรย้อย ได้แสดงฤทธิ์แก่มวลญาติเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ พระสาวกเห็นเป็นอัศจรรย์ได้ถามและพระองค์ก็เล่านิทานเมื่อครั้งเกิดเป็นพระเวสสันดร
2. กัณฑ์หิมพานต์ ว่าด้วยเรื่องเทพธิดาลงมาเกิดเป็นลูกกษัตริย์มัทราชได้ชื่อว่า ผุสดี พออายุ 16 ปีได้แต่งงานกับพระเจ้ากรุงสญชัยเมืองสีพี เกิดมีครรภ์พอครบ 10 เดือนพระนางผุสดีก็คลอดพระโพธิสัตว์นามว่าพระเวสสันดร มีช้างคู่บารมีชื่อปัจจัยนาเคน พออายุ 16 ปีก็แต่งงานกับพระนางมัทรี มีลูกน้อยชื่อชาลีและกัณหา
ต่อมาเมืองกลิงคะเกิดข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองมาขอช้างจากพระเวสสันดร พระองค์ให้ทานช้าง ทำให้ชาวเมืองไม่พอใจไปขอพระเจ้ากรุงสณชัยให้เนรเทศพระเวสสันดรไปเขาวงกต
3. กัณฑ์ทานกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องพระมารดาร้องขออภัยโทษพระเวสสันดรแต่ผิดหวัง พระเวสสันดรให้ทานใหญ่แล้วขออำลาไป
4. กัณฑ์วนปเวสน์ ว่าด้วยเรื่อง 4 กษัตริย์เดินดงไปเขาวงกต แคว้นเจตราช พระเจ้าเจตราชสั่งให้พรานเจตบุตรรักษาด่านไว้ไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรบกวนพระเวสสันดร
5 . กัณฑ์ชูชก ว่าด้วยเรื่องเฒ่าชูชกขอทานได้เอาไปฝากเพื่อน พอมาทวงคืนเพื่อนได้ใช้เงินหมดแล้วเลยยกลูกสาวชื่ออมิตตดา ต่อมานางให้ชูชกไปขอชาลีกัณหาเพื่อเอามาเป็นทาสรับใช้
6 . กัณฑ์จุลพน ว่าด้วยเรื่องป่าน้อยชูชกไปเจอพรานเจตบุตรลวงให้เชื่อว่านำสารของพระเจ้ากรุงสณชัยมาส่งให้พระเวสสันดรเพื่อกลับคืนพระนครและพรานป่าก็เชื่อด้วยนะ
7 . กัณฑ์มหาพน ว่าด้วยเรื่องป่าใหญ่ ที่ชูชกไปพบพระอจุตฤาษีลวงว่าเป็นนักบวชจะมาคุยธรรมะกับพระเวสสันดร พระฤาษีก็หลงเชื่อให้ที่พักค้างคืนซ้ำบอกแนะนำเส้นทาง ไปเขาวงกตด้วย
8 . กัณฑ์กุมาร ว่าด้วยเรื่อง ชูชกไปถึงที่อยู่พระเวสสันดรช่วงพระนางมัทรีไปป่าหาผลไม้ก็รีบไปขอสองลูกน้อย ทั้งชาลีและกัณหาได้ยินพากันหนีลงไปในสระบัวบังกายไว้ พระองค์ไปเรียกหาเอามายกให้ชูชก
9 . กัณฑ์มัทรี ว่าด้วยเรื่อง พระอินทร์สั่งให้เทวดาแปลงกายมาเป็น 3 เสือขวางทางไม่ให้พระนางมัทรีกลับมาทันเหตุการณ์การยกลูกให้เป็นทาน เมื่อกลับมาถึงหาลูกน้อยไม่พบ พระเวสสันดรก็ไม่ตอบ พระนางเป็นลมสลบเมื่อฟื้นขึ้นมาพระเวสสันดรเลยบอกความจริง
10 . กัณฑ์สักกบรรพ ว่าด้วยเรื่องพระอินทร์แปลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี เมื่อพระเวสสันดรยกให้แล้วก็ฝากไว้ให้รับใช้พระเวสสันดรตามเดิมแล้วปรากฏตนเป็นพระอินทร์
11 . กัณฑ์มหาราช ว่าด้วยเรื่องชูชกพาชาลีกัณหาเดินดงหลงเข้าไปกรุงสีพีเพราะเทวดาดลใจ พระเจ้าปู่เลยไถ่เอาหลานไว้ พร้อมเลี้ยงดูชูชก แกกินมากจนท้องแตกตาย ฝ่ายพระเจ้ากรุงสญชัยได้จัดกองทัพไปอัญเชิญพระเวสสันดรกลับคืนวังและชาวเมืองกลิงคะก็คืนช้างคู่บารมีพอดี
12 . กัณฑ์ฉกษัตริย์ ว่าด้วยเรื่อง 6 กษัตริย์มาพบกันเกิดสลบไปทั้งหมด ร้อนถึงพระอินทร์รู้เหตุเลยบันดาลให้ฝนตกใหญ่ ( ฝนโบกขรพรรษ ) เมื่อทั้งหมดฟื้นคืนชีพแล้วได้ขออภัยต่อพระเวสสันดรและเชิญเข้าไปปกครองกรุงสีพี
13 . กัณฑ์นครกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องผลแห่งทาน ผลแห่งศีล และผลแห่งพระบารมี 30 ทัศ ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ เมื่อกลับมาถึงกรุงสีพีแล้วบังเกิดฝนใหญ่ตกลงมาสร้างความชุ่มชื่นร่มเย็นแก่ชาวเมืองสีพี
พระเวสสันดรครองนครสีพีจนอายุ 120 ปีจึงสวรรคต ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่าสันตุสิต อยู่สวรรค์ชั้นดุสิตก่อนที่จะมาเกิดเป็นพระสิทธัตถะกุมารนั้นแล.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น