วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางสังคม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม




           สังคมมนุษย์มีลักษณะเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ คือ มีการเปลี่ยนแปลง บางสังคมเปลี่ยนแปลงช้าขณะที่บางสังคมเปลี่ยนเร็ว ในอดีตสังคมส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จนเกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนอย่างสำคัญในรอบร้อยปี แต่ในระยะประมาณร้อยปีที่แล้วสังคมจำนวนหนึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากสภาพสังคมแบบโบราณกลายเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่เห็นชัดเจนคือการเปลี่ยนจากสังคมแบบเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม จากสังคมแบบชนบทมาเป็นสังคมเมือง เป็นต้น เนื้อหาต่อไปจะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในประเด็นต่างๆ

ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

พวงเพชร สุรัตนกวีกุล (2541) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมว่าหมายถึง การเปลี่ยนรูปแบบของโครงสร้างทางสังคม พฤติกรรมทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปได้ทั้งในทางบวกและทางลบ คือมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นหรือเพิ่มขึ้น และสิ่งที่มีอยู่เดิมสิ้นสภาพหรือถูกทำลายไป การเปลี่ยนแปลงในทางที่มีสิ่งใหม่หรือเพิ่มขึ้นที่เห็นชัด ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆที่เป็นวัตถุสิ่งของและเทคนิค วิธีการ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของเมือง การสื่อสารและการคมนาคมที่รวดเร็วและสะดวก ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ปรากฏว่าสิ่งของเครื่องเครื่องใช้และวิธีการเก่า ๆ หลายอย่างถูกยกเลิกหรือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น การใช้เกวียน การใช้วัวควายไถนา การใช้หมอตำแยทำคลอด การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช การบวชตามประเพณี เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

การเปลี่ยนแปลงฯ มักทำให้สังคมทั้งระบบเปลี่ยนได้โดยปกติคนส่วนใหญ่ในสังคมมักเป็นผู้รับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเป็นผู้ริเริ่มทำการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงฯ เป็นกระบวนการปรับตัวตามธรรมชาติที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
การเปลี่ยนแปลงในส่วนต่าง ๆ ของสังคมนั้นเกิดขึ้นเร็วช้าไม่เท่ากัน
การเปลี่ยนแปลงในส่วนหนึ่งของสังคมมักส่งผลกระทบถึงส่วนอื่น ซึ่งอาจเป็นผลกระทบในทางบวกหรือทางลบก็ได้
แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒธรรม

โลกยุคปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับโลกยุคเก่า การเปลี่ยนเข้าสู่โลกยุคใหม่เริ่มขึ้นราวร้อยกว่าปีมานี้ โดยเริ่มจากสังคมตะวันตกแล้วแพร่กระจายไปทั่วโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในโลกปรากฏขึ้นชัดเจนหลายประการ เช่น

ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขนาดของสังคมต่าง ๆ โดยเฉลี่ยใหญ่ขึ้น
มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวรและชุมชนเมืองมากขึ้น
สังคมมนุษย์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากขึ้น
มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย
มีผลผลิตทางวัฒนธรรม (เช่น ข่าวสาร ความรู้ และบันเทิง)
ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากทั้งชนิดและปริมาณ
การจัดระเบียบทางสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น
มีความไม่เท่าเทียมภายในสังคมและระหว่างสังคมเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลง เหล่านี้เกิดขึ้นมากน้อยและเร็วช้าไม่เท่ากันในแต่ละสังคม บางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงมากจนกลายเป็นสังคมที่ก้าวหน้าและเป็นศูนย์กลางของโลกยุคใหม่ หลายสังคมเปลี่ยนแปลงช้าหรือมีการเปลี่ยนแปลงบางด้านที่เป็นปัญหา เช่น ประชากรเพิ่มมากจนกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น จีน อินเดีย ในบางประเทศเน้นการพัฒนาด้านวัตถุเกินไปจนเป็นปัญหาต่อความสัมพันธ์ทางสังคม

แนวโน้มที่กำลังเป็นไปขณะนี้ คือ การแพร่กระจายเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจจากสังคมที่ พัฒนาแล้วไปสู่สังคมที่ ด้อยพัฒนาหรือ กำลังพัฒนาทั่วโลก หรือที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์นักสังคมวิทยามองการเปลี่ยนแปลงในสังคมส่วนใหญ่รวมทั้งสังคมไทยในปัจจุบันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสภาพสังคมแบบประเพณีไปสู่สังคมแบบใหม่ เรียกกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า การเปลี่ยนเป็นความทันสมัย” (modernization) หรือ ภาวะทันสมัยซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนเป็นแบบสังคมตะวันตก

องค์ประกอบของความเป็นตะวันตกประกอบด้วย
(1) การมีระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม
(2) การเป็นสังคมเมือง
(3) ความเป็นประชาธิปไตย
(4) การดำเนินชีวิตและมีทัศนะเชิงโลกีย์วิสัย (Secularization)

หลายคนมักเข้าใจว่า ความทันสมัยคือ การพัฒนา” (development) แต่บางคนกลับเห็นว่า สังคมที่ทันสมัยอาจไม่พัฒนาก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้ คำนิยามศัพท์ที่ต่างกัน ดังนั้นในที่นี่ผู้เรียบเรียงจักได้นำเสนอลักษณะของ สังคมที่ทันสมัยในแง่มุมที่เป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว ดังต่อไปนี้

เป็นสังคมอุตสาหกรรม เพราะระบบอุตสาหกรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ตามมา
ระบบตลาดเสรี
ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย
เปิดโอกาสให้มีการการเคลื่อนไหวทางสังคมหรือการเลื่อนชนชั้นได้โดยเสรี
พลเมืองในสังคมนั้นๆ รับรู้ข่าวสารและมีส่วนร่วมทางการเมือง มีความสำนึกว่าตนเองมีความสามารถ ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเพณี พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ ใจกว้าง และมีความยืดหยุ่นทางความคิด
แบบแผนของระบบการเมือง บรรทัดฐานทางสังคม โครงสร้างทางชนชั้นและบุคลิกภาพของสมาชิกสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันมักไม่ใช่เรื่องภายในของประเทศหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบสังคมโลก ที่ครอบคลุมระบบเศรษฐกิจโลก การค้า การเงินระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ (Multinational corporation) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ผูกพัน จนกลายเป็นสังคมเดียวกันนั่นคือ ระบบสังคมโลก


นอกจากนั้นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยนั้นมักพบลักษณะบางประการที่เรียกว่า ทวิลักษณ์” (dualism) คือมีภาวะที่แตกต่างกันมากดำรงอยู่ควบคู่กัน เช่น ด้านเศรษฐกิจภาคเกษตรและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่คู่กันแค่มีความไม่เท่าเทียมกัน รายได้ระหว่างกลุ่มคนภาคเกษตรกับภาคธุรกิจการค้าอุตสาหกรรม มีความแตกต่างกันมาก รัฐบาลมักจะเอาใจใส่และเอื้อประโยชน์แก่นักธุรกิจมากกว่าเกษตรกร และนักธุรกิจมักได้รับชัยชนะเหนือเกษตรกรในการขัดแย้งเพื่อแย่งทรัพยากรน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ในด้านการเมืองก็มีลักษณะสองด้าน คือ ด้านหนึ่งคนเมืองและชนชั้นกลางซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น เสรีภาพทางการเมืองหรือระบบประชาธิปไตยเป็นกระแสหลักถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบธุรกิจตลาดเสรี แต่ในอีกด้านหนึ่งเกษตรกรในชนบทยังคุ้นเคยกับระบบอำนาจแบบอุปถัมภ์ และวิถีชีวิตแบบประเพณี ทำให้สังคมมีรูปแบบของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่มีพฤติกรรมทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ฝ่ายชนบทกับฝ่ายคนเมือง เช่น กรณีการเมืองในประเทศไทยซึ่งคนชนบทกับคนเมืองมีความคาดหวังต่อนักการเมืองต่างกันจึงมักเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า คนชนบทตั้งรัฐบาลแต่คนเมืองล้มรัฐบาลอยู่เสมอ




ปัญหาสังคมไทย




             ปัญหาสังคม หมายถึง สภาวะการณ์ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อคนจำนวนมากในสังคมและเห็นว่าควรร่วม กันแก้ปัญหานั้นให้ดีขึ้น

สาเหตุของปัญหาสังคม

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การเปลี่ยนเป็นสังคมเมือง การเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม การเป็นค่านิยมใหม่ ๆ ทำให้เกิดปัญหาสังคมขึ้น
เกิดจากสมาชิกในสังคมบางกลุ่มไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่สังคมวางไว้ เช่น เกิดความขัดแย้งระหว่างกฎเกณฑ์กับความมุ่งหมาย เกิดความล้มเหลวของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม หรือสมาชิกบางกลุ่มที่สร้างความเดือดร้อนให้ แก่สังคม ทำให้เกิดการขาดระเบียบและเป็นปัญหาทางสังคมขึ้น
เกิดจากการที่กลุ่มสังคมต่าง ๆ มีความคิดเห็นความต้องการและผลประโยชน์ขัดกันไม่ยอมร่วมมือแก้ไขปัญหา ของสังคม เช่น การเอาเปรียบลูกจ้าง เป็นต้น
ปัญหาของสังคมไทย

1. ปัญหาความยากจน มีสาเหตุเกิดจาก

1. การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร
2. การขาดการศึกษา ทำให้มีรายได้ต่ำ
3. ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
4. ลักษณะอาชีพมีรายได้ไม่แน่นอนสม่ำเสมอ เช่นกรรมกร รับจ้าง
5. มีบุตรมากเกินไป รายได้ไม่พอกับรายจ่าย
6. มีลักษณะนิสัยเฉื่อยชาและเกียจคร้าน ไม่ชอบทำงาน

แนวทางการแก้ไขปัญหา

1. พัฒนาเศรษฐกิจ เช่น กระจายรายได้ การสร้างงานในชนบท ขยายการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
2. พัฒนาสังคม เช่น ขยายการศึกษาเพิ่มมากขึ้น บริการฝึกอาชีพให้กับประชาชน
3. พัฒนาคุณภาพของประชากร

2. ปัญหาอาชญากรรม มีสาเหตุเกิดจาก

1. การขาดความอบอุ่นทางจิตใจ
2. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น
3. สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม
4. มีค่านิยมในทางที่ผิด

การแก้ไขปัญหา

1. รัฐและหน่วยงานรับผิดชอบควรช่วยกันแก้ไขปัญหา
2. ปลูกฝังและพัฒนาจิตใจของสมาชิกในสังคมให้มีคุณธรรม
3. อบรมสั่งสอนและให้ความรัก ความอบอุ่น และรวมถึงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่

3. ปัญหายาเสพย์ติด

มีสาเหตุเกิดจาก

1. ถูกชักชวนให้ทดลอง
2. ประกอบอาชีพบางอย่างที่ต้องการเพิ่มงานมากขึ้น
3. ความอยากรู้และอยากทดลอง
4. สภาวะแวดล้อมไม่ดี

การแก้ไขปัญหา

1. ให้ความรู้เรื่องโทษของยาเสพย์ติด
2. ป้องกันและปราบปรามผู้ซื้อและผู้ขายอย่างเด็ดขาด
3. การร่วมมือสอดส่องดูแลความประพฤติของเด็กอย่างใกล้ชิด
4. จัดให้มีการบำบัดและรักษาผู้ติดยาเสพย์ติด

4. ปัญหาโรคเอดส์

สาเหตุเกิดจาก

1. ปัญหายาเสพย์ติด
2. ขาดความรู้ในการป้องกันโรค
3. เกิดจากความยากจนและไม่เพียงพอ

การแก้ไขปัญหา

1. ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการโรคเอดส์ให้กับประชาชน
2. ไม่เสพย์สิ่งเสพย์ติด โดยเฉพาะการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
3. ระมัดระวังการติดเชื้อโดยทางสายเลือด

5. ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เช่น อากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย เสียงเป็นพิษ ขยะมูลฝอย เป็นต้น มีสาเหตุเกิดจาก

1. การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว
2. เกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม
4. ขาดความรับผิดชอบ และระเบียบวินัยของสมาชิกในสังคม

การแก้ไขปัญหา

1. ให้การศึกษาและคำแนะนำต่าง ๆ แก่สมาชิกในสังคม
2. วางนโยบายการป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม
3. ลงโทษผู้ฝ่าฝืนและกระทำผิดอย่างจริงจัง

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมไทย

รัฐบาลควรออกระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย เพื่อ กำหนดมาตรการการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างจริงจังและแน่นอน
วางแผนและนโยบายการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อรณรงค์และอนุรักษ์
ให้การศึกษาแก่สมาชิกในสังคมเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ ให้มากขึ้น
ปรับปรุงและพัฒนาสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พัฒนาเศรษฐกิจทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการให้ดีขึ้น
พัฒนาสังคม สร้างค่านิยม และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น